2011年12月29日木曜日

[Entry เฉพาะกิจ] วิธีการทำฮาร์โมนี่

รู้สึกว่าปล่อยที่นี่ทิ้งร้างไว้เป็นปีละแฮะ 555+
ช่วงนี้สิงแต่ทวิต ไม่ค่อยได้อัพ blog เลย

ที่จริงก็อยากเขียนเรื่องนี้มานานแล้วล่ะนะ แต่ว่าไม่มีโอกาสซักที
blog ใน exteen ก็ดองอะไรไว้หลายๆ อย่างยังไม่อยากอัพ
เลยมาอัพที่นี่ก่อนละกัน เอาแบบคร่าวๆ ก่อน
แล้วไว้ค่อยไปอัพแบบจริงๆ จังๆ ที่ blog นู้น

เอาแบบคอร์สรวบรัดไปเลย


**edit** เขียนเสร็จแล้วกลับมาอ่าน
แบบว่ายาวโคตรๆ เลยอ่ะ 555+
ชักเริ่มสงสัยว่าตัวเองเรียนเอกอะไรกันแน่

**edit2** หมายเหตุ entry นี้เขียนตามที่ผมหาอ่านตามหนังสือ
หรือลองเล่น (กับเปียโน Vocaloid ไม่ก็ Melodyne) ด้วยตัวเอง
อาจจะมีข้อมูลผิดพลาดไปบางจุด ต้องขออภัยล่วงหน้าไว้ด้วยนะครับ
(ถ้าเห็นตรงไหนผิดก็ท้วงติงมาทางทวิตเตอร์ @schdawn ได้เน่อ)


1.
รู้จักกับคีย์ก่อน

ปกติเวลาเราเริ่มเรียนดนตรีเราจะเรียนโน้ตกัน 7 ตัวใช่มั้ยครับ
คือ โด เร มี ฟา โซ ลา ที โด
ถ้าเขียนโน้ตเป็นตัวอักษรก็จะได้
C D E F G A B (โด เร มี...ที ตามลำดับ)

แต่จริงๆ แล้วถ้าเราไปดูที่เปียโน มันจะมีโน้ตอยู่ทั้งหมด 12 ตัว
คือ C C# D D# E F F# G G# A A# B

ที่เพิ่มมา 5 ตัวคือพวกโน้ตตัวดำทั้งหลาย
ซึ่งแทบไม่ถูกใช้เลยในเพลงเบสิกๆ ที่เราเรียนกัน
สาเหตุเป็นเพราะว่าเพลงเบสิกๆ ส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นในคีย์ C Major ครับ
ทำให้โน้ตถูกจำกัดอยู่แค่ 7 โน้ตของ C Major ได้แก่ C D E F G A B

เพลงไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจริงๆ จะไม่ใช้โน้ตนอกคีย์ของตัวเพลงครับ
ยกตัวอย่างเช่นเพลง Happy Birthday ที่ถูกเขียนขึ้นในคอร์ด G Major
ซึ่งประกอบไปด้วยโน้ต G A B C D E F#
มีโน้ตเพลงดังนี้
(หมายเหตุ ตัวเลขหลังตัวอักษรคือหมายเลข octave ของโน้ตตัวนั้น เช่น C4 คือ โด ตัวกลางของเปียโน)

D4 D4 E4 D4 G4 F#4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 E4 D4 A4 G4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 D5 B4 G4 F#4 E4
(Hap-py birth-day dear my friend)
C5 C5 B4 G4 A4 G4
(Hap-py birth-day to you)

อาจจะเข้าใจยากหน่อย ลองไปหาเปียโนกดดูละกันนะครับ
เอาพวก App ฟรีใน iPhone/iPad ก็ได้ครับ

เป็นเพลง Happy Birthday ที่เราคุ้นหูกันใช่มั้ยครับ
จะสังเกตุว่าทั้งเพลงไม่มีโน้ตนอกเหนือไปจาก G A B C D E F# เลย
เพราะว่าถ้าเราเล่นโน้ตตัวอื่นที่ไม่ใช่ 7 ตัวนี้
สมองเราจะตีความออกมาได้ว่าเสียงนั้นเพี้ยนออกไปครับ
ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือว่าดี แล้วแต่การนำไปใช้
เพียงแต่ว่าในระดับนี้เราจะนับว่าเสียงเพี้ยนเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการไปก่อน

ทีนี้เราลองมาเปลี่ยนคีย์ของเพลงนี้เป็น C Major ดูบ้าง
วิธีการก็คือเปลี่ยนโน้ตตามลำดับของคีย์
คือเปลี่ยนโน้ตตัวหนึ่งในคีย์ๆ หนึ่ง ให้เป็นโน้ตลำดับเดียวกันในอีกคีย์
จากคีย์ G Major G A B C D E F#
เป็นคีย์ C Major C D E F G A B
G > C
A > D
B > E
C > F
D > G
E > A
F# > B
(ถ้าโน้ตมันล้นไป octave ที่สูงหรือต่ำกว่า อย่าลืมปรับ octave ให้ถูกด้วย)

เราจะได้เพลง Happy Birthday ในคีย์ C Major เป็น

G4 G4 A4 G4 C5 B4
(Hap-py birth-day to you)
G4 G4 A4 G4 D5 C5
(Hap-py birth-day to you)
G4 G4 G5 E5 C5 B4 A4
(Hap-py birth-day dear my friend)
F5 F5 E5 C5 D5 C5
(Hap-py birth-day to you)

ถ้าลองไปเล่นดู มันก็ออกมาเป็นเพลงเดิมใช่มั้ยครับ
เพียงแค่ว่าคีย์มันเปลี่ยนไป สูงขึ้นกว่าเดิมนิดนึง (ถ้าเอาให้ถูกก็ +5)

นี่แหละครับ ความมหัศจรรย์ของคีย์
เพลงไม่ว่าอะไรก็ตาม สามารถเปลี่ยนให้ไปเล่นโน้ตตัวอื่นได้ โดยไม่รู้สึกว่าเพี้ยน
ก็ด้วยการเปลี่ยนคีย์นี่แหละครับ
ถ้าเราฝึกเปลี่ยนคีย์จนคล่องแล้ว ก็จะสามารถร้องเพลง เล่นเพลง ในคีย์อื่นๆ ได้ไม่เพี้ยนแล้ว


**ความรู้เพิ่มเติม 1 - การนับโน้ตในแต่ละคีย์
วิธีการนับโน้ตในแต่ละคีย์ไม่ยากครับ
ก่อนอื่นให้เอาโน้ตทั้ง 12 ตัวมาเรียงกัน
C C# D D# E F F# G G# A A# B
นับเริ่มตัวแรกที่โน้ตของคีย์นั้น
แล้วนับระยะห่างเอาทีละ 1 หรือ 2 ตามนี้
สำหรับคีย์ Major 2-2-1-2-2-2(-1)
สำหรับคีย์ minor 2-1-2-2-1-2(-2)
(ถ้าสุดที่ B แล้วอย่าลืมวนกลับไป C)

เช่น C Major
C C# D D# E F F# G G# A A# B
เริ่มที่ C
ถัดไป 2 คือ D
ถัดไป 2 คือ E
ถัดไป 1 คือ F
ถัดไป 2 คือ G
ถัดไป 2 คือ A
ถัดไป 2 คือ B
(ถัดไป 1 จะย้อนกลับไป C)
ได้เป็น C D E F G A B

สำหรับ A minor
C C# D D# E F F# G G# A A# B
เริ่มที่ A
ถัดไป 2 คือ B
ถัดไป 1 คือ C
ถัดไป 2 คือ D
ถัดไป 2 คือ E
ถัดไป 1 คือ F
ถัดไป 2 คือ G
(ถัดไป 2 จะย้อนกลับไป A)
ได้เป็น A B C D E F G

ลองอีกอันนึง F Major
C C# D D# E F F# G G# A A# B
เริ่มที่ F
ถัดไป 2 คือ G
ถัดไป 2 คือ A
ถัดไป 1 คือ A#
ถัดไป 2 คือ C
ถัดไป 2 คือ D
ถัดไป 2 คือ E
(ถัดไป 1 จะย้อนกลับไป F)
จะได้เป็น F G A A# C D E
แต่เนื่องจากตามทฤษฏีดนตรี (ที่ถ้าอธิบายอีกคงยาว)
คีย์ F Major ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของ Circle of Fifth ให้ใช้ ♭(flat) แทน #(sharp)
จึงต้องเปลี่ยน A# เป็น B♭(ซึ่งมันก็คือโน้ตตัวเดียวกันคือตัวดำระหว่าง ลา กับ ที)
จะได้เป็น F G A B♭ C D E

ตามนี้ล่ะครับ
สำหรับใครที่สนใจลองไปหาอ่านเพิ่มเติมเอาได้
(ถ้าไม่รู้เริ่มที่ไหนก็ลอง Wikipedia ก็ได้ครับ ถ้าติดใจค่อยไปซื้อหนังสืออ่านเอา)

หมายเหตุ: การเปลี่ยนคีย์ เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักร้องที่เส้นเสียงมีขอบจำกัดแคบ
หรือไม่สามารถออกเสียงครึ่งขั้น (โน้ตตัวดำ) ได้อย่างชำนาญ
การเปลี่ยนคีย์ให้อยู่ใน range ที่เหมาะสมกับเส้นเสียงของตัวเอง
หรือการเปลี่ยนคีย์เพื่อเลี่ยงคีย์ที่โน้ตตัวดำเยอะๆ (เช่นจาก F# ที่มีตัวดำถึง 6 ตัว ลบ 4 เหลือ D)
นอกจากจะทำให้สามารถร้องเพลงได้เพราะขึ้นแล้วยังเป็นการถนอมเส้นเสียงไปในตัวด้วยครับ



2.
การใส่ฮาร์โมนี่

เขียนไปเขียนมาชักยาว =___=
มาเข้าเนื้อกันดีกว่า

อย่างที่กล่าวไปใน part 1 ครับว่าเพลงโดยปกติทั่วไปแล้ว
ถ้าไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไรเป็นพิเศษ จะไม่เล่นโน้ตที่อยู่นอกคีย์ตัวเองครับ
การใส่ฮาร์โมนี่ก็เช่นเดียวกัน

เราจะสร้างฮาร์โมนี่โดยการเล่นโน้ตอีกตัวที่อยู่ในคีย์เดียวกัน
ซึ่งจะประสานกับโน้ตตัวหลักทำให้เสียงออกมาเพราะขึ้นครับ

(หมายเหตุ: การสร้างฮาร์โมนี่โดยใช้โน้ตนอกคีย์ก็มีเช่นกัน แต่เป็นการใช้งานกรณีพิเศษเพื่อสร้างอารมณ์ของเพลง จึงขอละไว้)

โดยฮาร์โมนี่จะมีตัวหลักๆ ที่ใช้กันบ่อยๆ อยู่ไม่กี่ตัวครับ
เช่น คู่ 3 ล่าง คู่ 3 บน แล้วก็คู่ 4 บน
โดยวันนี้เราจะมานำเสนอตัวที่ใช้งานง่านที่สุดคือคู่ 3 ล่างครับ

ก่อนอื่น อย่าเพิ่งนึกไปถึงหวยเมื่อได้ยินคำว่า 3 บน 3 ล่างอะไรกัน
มันเป็นศัพท์ทางดนตรีครับ เอาไว้เรียกคู่โน้ตที่ประสานกัน
โดยวิธีการนับให้นับโน้ตหลักที่เราต้องการเป็น 1 แล้วนับขึ้น-ลงตามจำนวนครับ
เช่นถ้าเราจะหาคู่ 3 ล่างของ C4 ในคีย์ C Major
เราก็เอาโน้ตใน C Major (C D E F G A B) มาไล่ลง
เริ่มจาก C4 เป็น 1
C3 D3 E3 F3 G3 A3 B3 C4 D4 E4 F4 G4 A4 B4
ตัวที่ 2 คือ B3
C3 D3 E3 F3 G3 A3 B3 C4 D4 E4 F4 G4 A4 B4
ตัวที่ 3 คือ A3
C3 D3 E3 F3 G3 A3 B3 C4 D4 E4 F4 G4 A4 B4
จะได้ว่า คู่ 3 ล่าง ของ C4 คือ A3 ครับ

ลองไปหาเปียโนแล้วเล่น C4 กับ A3 ด้วยกัน
มันจะให้ความรู้สึกก้องๆ เป็นเสียงประสานใช่มั้ยล่ะครับ
นั่นล่ะครับ โน้ตมันกำลังประสานกัน โดยที่ A3 เป็นฮาร์โมนี่ของ C4
ลองเล่นคู่อื่นๆ ดูบ้างเช่น D4 กับ B3 แล้วก็ E4 กับ C4 ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง B4 กับ G4 แล้วก็ C5 กับ A4

ทีนี้เราลองเอาฮาร์โมนี่มาใส่ในเพลงบ้าง
ย้อนกลับไปดูตัวอย่างเพลง Happy Birthday ข้างบน

D4 D4 E4 D4 G4 F#4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 E4 D4 A4 G4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 D5 B4 G4 F#4 E4
(Hap-py birth-day dear my friend)
C5 C5 B4 G4 A4 G4
(Hap-py birth-day to you)

เพลงนี้เป็นเพลงในคีย์ G Major เพราะฉะนั้นเราลองมาหาคู่ 3 ล่างของโน้ตแต่ละตัวใน G Major กัน
โน้ตใน G Major ได้แก่ G A B C D E F#
จะได้ว่า
G - E
A - F#
B - G
C - A
D - B
E - C
F# - D
แล้วเราลองเอามาใส่ในเพลงดู
(ฮาร์โมนี่อยู่แถวล่าง)

D4 D4 E4 D4 G4 F#4
B3 B3 C4 B3 E4 D4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 E4 D4 A4 G4
B3 B3 C4 B3 F#4 E4
(Hap-py birth-day to you)
D4 D4 D5 B4 G4 F#4 E4
B3 B3 B4 G4 E4 D4 C4
(Hap-py birth-day dear my friend)
C5 C5 B4 G4 A4 G4
A4 A4 G4 E4 F#4 E4
(Hap-py birth-day to you)

ลองเล่นบนเปียโนดู หรือถ้างงก็ลองเอาไปใส่โปรแกรมสร้างไฟล์ midi เช่น Domino
หรือเอาไปให้ Vocaloid ร้องดูก็ได้ครับ
จะเห็นได้ว่าเสียงมันประสานกันพอดีเลย
แค่นี้ล่ะครับ เราก็สามารถสร้าง Harmony ได้แล้ว

เอาเข้าจริงๆ การสร้างฮาร์โมนี่มันก็มีเพียงเท่านี้แหละครับ

นอกจากคู่ 3 ล่างแล้ว ลองไปเล่นกับคู่ 3 บน หรือ คู่ 4 บนดูกันนะครับ (4 ล่าง หรือ 5 ล่าง ด้วย)
ฮาร์โมนี่มันไม่ตายตัว ตราบใดที่เสียงมันไม่ตีกับเสียงหลักก็เอามาใช้ได้หมดครับ
ลองเล่นๆ ดู อันไหนฟังเพราะก็เอาไปใช้ได้เลย

เพียงแค่มีข้อควรระวังคือโน้ตที่อยู่ติดกันต่ำกว่าคู่ 3 มักจะตีกัน (เช่น C จะตีกับ C# D และในบางกรณี D#) ไม่ควรใช้
และก็ฮาร์โมนี่ที่เสียงสูงกว่าเสียงหลัก (เช่นคู่ 3 บน)
ต้องปรับให้เสียงเบาๆ ลง หรือปรับลงไป 1 octave ครับ เพื่อไม่ให้เสียงไปข่มเสียงหลัก

นอกจากนี้ยังต้องระวังไม่ให้เสียงฮาร์โมนี่ไปตีกับเสียงคอร์ดด้วย
เช่นเวลาเล่นโน้ต C4 คู่กับคอร์ด C Major (C E G)
ปกติคู่ 3 ล่างต้องเป็น A3 แต่ว่าเนื่องจาก A เป็นโน้ตตัวถัดกับ G
ทำให้เสียงมันตีกันเล็กน้อย เราจึงควรเปลี่ยนไปเล่น G3 (4 ล่าง) เป็นฮาร์โมนี่แทน
จะทำให้ฮาร์โมนี่ไม่ตีกับเสียงคอร์ดได้ครับ

เอาเข้าจริงๆ มันต้องลองเล่นๆ ดูอ่ะครับ
ดนตรีมันไม่ใช่สูตรคณิตตายตัว
เสียงเพลงจะออกมายังไงก็สุดแล้วแต่จินตนาการของเราจะสร้างสรรค์มันล่ะครับ


**ความรู้เพิ่มเติม 2 - การใส่ฮาร์โมนี่แบบคู่ 3 minor
เมื่อก่อนผมก็เคยทำครับ 555+ การใส่ฮาร์โมนี่แบบเผาๆ
คือการจับเอาเพลงเสียงหลักแล้วมาปรับคีย์ -3 ทั้งเพลงเลยครับ
สิ่งที่ออกมาจะเป็นฮาร์โมนี่ที่เกือบโอเคเลย
เพียงแค่ว่าอารมณ์ของเพลงจะเปลี่ยนไปเป็นเพลงเศร้าๆ แทนครับ ฟังแล้วตะหงิดๆ หู
ถ้ารีบใส่ฮาร์โมนี่จะลองใช้วิธีนี้ก็ได้ครับ
แต่แนะนำว่าถ้าใส่ฮาร์โมนี่แบบปกติเป็นแล้ว ใส่แบบนั้นไปจะดีที่สุดครับ

0 件のコメント:

コメントを投稿